สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ก่อตั้งมาครบ ๖๐ ปี ในปี ๒๕๖๒ จึงได้กำหนดจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในวาระพิเศษนี้ตลอดทั้งปี ๒๕๖๒ และต่อเนื่องถึงต้นปี ๒๕๖๓ โดยเอาวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ซึ่งถือเป็นวันก่อตั้งสมาคมฯ เป็นวันเริ่มต้นกิจกรรม
นายเกรียงไกร นพสงค์ นายกกิตติมศักดิ์ เรืออากาศโทรชาญฤทธิ์ วงษ์ประเสริฐ เลขาธิการกิตติมศักดิ์ และนายเกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร อดีตนักกีฬาและผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย ได้ร่วมกันชี้แจงว่า ในปี ๒๕๐๒ ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ ๑ คณะกรรมการจัดการแข่งขัน ได้เลือกกีฬาวอลเลย์บอล ประเภททีมชาย เป็นหนึ่งชนิดกีฬาที่มีการแข่งขันด้วย จึงทำให้ต้องมีการจัดตั้งสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลสมัครเล่นแห่งประเทศไทยขึ้น เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ โดยมีพลเอกสุรจิต จารุเศรณี เป็นนายกสมาคมคนแรก ซึ่งประเทศไทยก็ประสบความสำเร็จ ได้เหรียญทองเหรียญแรก ถึงแม้จะประสบความสำเร็จแต่ในความเป็นจริงในช่วงแรกๆ กีฬาวอลเลย์บอลยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เล่นกันในวงจำกัด จำนวนนักกีฬาก็มีน้อย บุคคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญก็มีจำกัด วัสดุอุปกรณ์และสนามแข่งขันก็มีจำนวนน้อยมาก รวมทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐและส่วนอื่นๆ ด้วย จึงทำให้ในช่วงระยะ ๒๕ ปีแรก เดินไปบนเส้นทางที่ยากลำบาก การแข่งขันในระดับต่างๆ จึงไม่ประสบความสำเร็จทั้งในระดับอาเซี่ยน และเอเซีย ไม่สามารถเทียบกับประเทศชั้นนำเช่นญี่ปุ่น จีน และเกาหลีได้เลย แต่ทุกคนที่เกี่ยวข้องก็ทุ่มเทพยายามกันมาอย่างไม่ย่อท้อ
การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาครั้งใหญ่ก็คือการที่นายกิจ พฤกษ์ชะอุ่ม นายเกรียงไกร นพสงค์ นายกกิตติมศักดิ์ และเรืออากาศโทชาญฤทธิ์ วงษ์ประเสริฐ เลขาธิการกิตติมศักดิ์ ได้เชิญนายพิศาล มูลศาสตร์สาทร ปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น มาเป็นนายกสมาคม ในปี ๒๕๒๘ รวมทั้งได้ระดมสรรพกำลังบุคคลที่มีทั้งความรู้ความสามารถ มีกำลังทรัพย์ และมีจิตใจรักกีฬาอย่างแท้จริง เข้ามาร่วมบริหารสมาคม กำหนดนโยบายเป้าหมายการพัฒนาที่เป็นระบบชัดเจนทั้งระยะสั้นและระยะยาว เป็นยุคของการวางรากฐานการพัฒนาทั้งด้านการบริหารจัดการ บุคคลากร เช่น ผู้ตัดสิน ผู้ฝึกสอน และนักกีฬา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ประกอบกับการใช้ศักยภาพความเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยจึงสามารถขยายการจัดการแข่งขันในระดับรุ่นอายุต่างๆ ออกไปสู่ทุกภูมิภาคของประเทศไทย และได้เริ่มนำสมาคมออกไปสู่ระดับนานาชาติด้วยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสหพันธ์วอลเลย์บอลแห่งเอเซีย และสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ ตลอดจนประเทศต่างๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากนายยาซูตากะ มัตสุไดร่า นายกสมาคมวอลเลย์บอลญี่ปุ่นและประธานสหพันธ์วอลเลย์บอลแห่งเอเซียในขณะนั้น ทำให้ได้มีโอกาสจัดการแข่งขันระดับนานาชาติในประเทศ และส่งนักกีฬาไปแข่งขันในต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนากีฬาวอลเลย์บอลไทยสู่นานาชาติ ซึ่งนายกสมาคมคนต่อๆ มาได้แก่นายอารีย์ วงศ์อารยะ, นายชนะศักดิ์ ยุวบูรณ์, นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช และนายพงศ์โพยม วาศภูติ ทุกท่านเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ก็ได้สืบทอดหน้าที่ต่อมา ทำให้นโยบายต่างๆ ที่วางไว้ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ประกอบกับผู้ที่มาร่วมบริหารและช่วยเหลือสมาคมเป็นผู้ที่เสียสละ ไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน จึงทำให้การพัฒนากีฬาวอลเลย์บอลประสบความสำเร็จในทุกด้านอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การแข่งขันก้าวไปถึงระดับโลก ด้านบุคคลากรได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่บริหารและช่วยงานของสหพันธ์วอลเลย์บอลแห่งเอเซียและสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ ด้านการจัดการแข่งขันก็ได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระดับนานาชาติเป็นประจำทุกปี และที่สำคัญได้รับความไว้วางใจจากมวลสมาชิกของสหพันธ์วอลเลย์บอลแห่งเอเซียให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานสหพันธ์วอลเลย์บอลแห่งเอเซีย สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติให้เป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนากีฬาวอลเลย์บอลนานาชาติ ๑ ใน ๓ แห่งของโลก และสิ่งที่พวกเราภาคภูมิใจคือวัฒนธรรมของความเป็นครอบครัววอลเลย์บอลที่มีความแตกต่างจากองค์กรกีฬาอื่น ๆ
นายสมพร ใช้บางยาง นายกสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงถึงกิจกรรมในห้วงเวลาเฉลิมฉลอง ๖๐ ปี ว่ามีทั้งกิจกรรมด้านการจัดการแข่งขันภายในประเทศทุกรุ่นอายุ และการจัดการแข่งขันระดับนานาชาติ ที่สำคัญได้แก่ การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาดอายุไม่เกิน ๒๑ ปี ชิงชนะเลิศแห่งเอเซีย ที่จังหวัดร้อยเอ็ดในเดือนมีนาคม การแข่งขันรายการมิตรภาพไทย เกาหลี เดือนเมษายน การแข่งขันเนชั่นลีกในเดือนมิถุนายน การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาดชิงแชมโลก รุ่นอายุไม่เกิน ๒๑ ปีที่จังหวัดอุดรธานีในเดือนมิถุนายน เป็นต้น กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสาธารณะ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านกีฬาและอื่นๆ ของผู้ฝึกสอน นักกีฬาทีมชาติ และเจ้าหน้าที่ การจัดกิจกรรมวันครอบครัววอลเลย์บอลในเดือนธันวาคม การจัดประขุมใหญ่สหพันธ์วอลเลย์บอลแห่งเอเซีย ในเดือนมกราคม ๒๕๖๓ และการประชุมใหญ่สหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติในเดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เป็นต้น
นายสมพร ใช้บางยาง ได้กล่าวในตอนท้ายว่าเป้าหมายสำคัญที่สุดก็คือ เราจะรวมพลังกันสานฝันไปสู่ความเป็นจริงด้วยการนำทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยไปโอลิมปิคที่โตเกียวประเทศญี่ปุ่น เพื่อฉลอง ๖๐ ปี สมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ให้ได้